‘ Mobile X-Ray AI’ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ฝีมือแพทย์ไทยที่ช่วยให้ผู้ป่วย COVID-19 มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น

วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

‘ Mobile X-Ray AI’ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ฝีมือแพทย์ไทยที่ช่วยให้ผู้ป่วย COVID-19 มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น   

ตอนนี้หลายคนคงรู้จักกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กันอยู่แล้ว และอาจเคยได้ยินว่ามันถูกฝึกให้ทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เล่นโกะจนสามารถเอาชนะแชมป์โลกได้ หรือ สวมบทบาทเป็นผู้ประกาศข่าว (news anchor) ที่สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้จริงๆ ซึ่งในช่วงนี้ที่เกิดวิกฤต COVID-19 การแพทย์ก็มีความพยายามในการนำ AI มาใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยเหมือนกัน ซึ่งเราจะอธิบายให้ฟังว่ามันถูกนำไปใช้อย่างไร    

เนื่องจากว่าการระบาดของโรค COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลกอยู่ หลายประเทศก็ต้องมีมาตรการในการคัดกรองผู้ติดเชื้อ และหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส  ซึ่ง AI สามารถช่วยให้การคัดกรองผู้ป่วยเร็วขึ้นได้ และในประเทศไทยเอง ตอนนี้ก็กำลังมีโครงการพัฒนา AI สำหรับใช้ในการวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอก โดยใช้ร่วมกับเครื่องถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอก Portable Chest X-Ray หรือ Mobile X-Ray AI

โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานในย่านหลายฝ่าย ได้แก่ เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี ศูนย์การแพทย์จีโนมิค คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทเมลโล จำกัด ,AIS

โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้การคัดกรองโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส COVID-19 ได้เร็วขึ้น ยุติการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น ลดการแพร่กระจายของเชื้อลงไปสู่ชุมชน ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตจากโรค COVID-19 

ทีมวิจัยร่วมมือกันพัฒนา AI ร่วมกับเครือพันธมิตรและประเทศเกาหลีใต้ จนได้ AI  ที่มีประสิทธิภาพ ความแม่นยำ โดยผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration - FDA) ของประเทศเกาหลีใต้ มาใช้ในโครงการนี้  

ซึ่ง AI ตัวนี้มีจุดเด่น คือ มันสามารถแปลผลวินิจฉัยจากการวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอกได้ราว 15 โรค จึงเป็นประโยชน์ต่อการตรวจหาโรคอื่นๆ นอกจาก COVID-19 ด้วย 

ทั้งนี้ตัวโครงการยังสามารถขยายผลไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศที่มีปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลเหล่านั้นมีความสามารถในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 มากขึ้นด้วย

เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือทีมวิจัยร่วมกับทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการยืนยันผลการวิเคราะห์ภาพจาก AI เทียบกับการตรวจทางอณูชีววิทยาหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (เชื้อที่ทำให้เกิดโรค COVID-19) และจุลชีพก่อโรคมากกว่า 25,000 สายพันธุ์ ที่ได้มาจาก swab และแยกโรค COVID-19 จากโรคปอดติดเชื้อจากสาเหตุอื่นด้วย 

นอกจากนี้ตัวโครงการยังได้รับการสนับสนุนจาก เอไอเอส ที่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการพัฒนาโครงการ ได้แก่ AIS 5G, AIS 4G, AIS Fibre, Robotic, Cloud และ AIS Partner Platform ทำให้การใช้งาน AI ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ