อย่าลืมกินยานะ ‘Pharmasafe’ แอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs หายเร็วขึ้น พัฒนาโดยฝีมือคนไทย
วันที่ 9 กรกฎาคม 2563
อย่าลืมกินยานะ ‘Pharmasafe’ แอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs หายเร็วขึ้น พัฒนาโดยฝีมือคนไทย
ตอนนี้โรงพยาบาลหลายแห่งจำเป็นต้องลดจำนวนผู้ใช้บริการภายในโรงพยาบาล เพื่อเป็นมาตรการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น การมีระบบติดตามผู้ป่วยที่ดีและช่วยให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลกันน้อยลงได้ จะเป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาลอย่างแน่นอน และข่าวดีก็คือ ในบ้านเราเองก็กำลังมีโครงการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยในการติดตามการใช้ยาและแนะนำการใช้ยาที่บ้านสำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ตับแข็ง มะเร็ง ซึ่งแอปฯ นี้จะช่วยผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมากมายเลยทีเดียว
แอปฯ นี้มีชื่อว่า ‘Pharmasafe’ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และดำเนินการโดย บริษัท วายอิง จำกัด โดย ‘Pharmasafe’ จะเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลผ่าน Web Application บนโทรศัพท์มือถือ และถูกนำมาใช้ในการเตือนผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ให้ทานยาตามที่แพทย์สั่งได้ครบถ้วนและตรงเวลา
นอกจากนี้ โครงการยังได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลราชวิถี (กรมการแพทย์) ในการให้ความช่วยเหลือเรื่องการเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลกลุ่มผู้ป่วย NCDS โรคเบาหวานของโรงพยาบาล และจะมีขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.เริ่มจากผู้ป่วยจะต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน ‘Phramasafe’ โดยมีเจ้าหน้าที่คลีนิค NCDs เป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบันทึกรายการยาและการเตือนเวลาทานยาตามคำสั่งของแพทย์
2.หลังจากนั้น เวลาผู้ป่วยอยู่บ้าน แอปพลิเคชันจะเตือนผู้ป่วยให้ทานยาตามแพทย์สั่ง อีกทั้ง ทำการแสดงรายการยาและข้อมูลสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย โดยตัวแอปฯ จะมีระบบเตือนเรื่องการแพ้ยา หรือ การรับยาซ้ำซ้อนด้วย และผู้ป่วยสามารถบันทึกรายการยาอื่นๆ เพิ่มได้ด้วย
3.ข้อมูลการใช้ยาของผู้ป่วยที่แอปฯ บันทึกไว้ จะถูกส่งมายัง Web Application ที่เป็น Tele Monitoring Dashboard ของคลีนิก NCDs ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถติดตามผู้ป่วยจำนวนมากได้แบบ real-time
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถแจ้งปัญหาสุขภาพอื่นๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ ผ่านแอปฯ ได้ด้วย อีกทั้งทางคลินิกเองก็สามารถส่งคำถามไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ป่วยได้เช่นกัน เพื่อให้ผู้ป่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ อาทิ อาการประจำวัน และบุคลากรทางการแพทย์สามารถนำข้อมูลมาใช้ประเมินการรักษาผู้ป่วยได้ต่อไป
หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย NCDS ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น หากป่วยไวขึ้น เจ็บป่วยซ้ำซ้อนน้อยลง ลดอาการกำเริบร้ายแรง รวมไปถึง ลดความเสี่ยงจากการใช้ยาผิดหรือซ้ำ
และยังเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ เพราะระบบช่วยให้การรักษาที่บ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพวกเขาสามารถติดตามพฤติกรรมการใช้ยา และเฝ้าระวังความเสี่ยงของผู้ป่วยที่อยู่บ้านได้ที่ละหลายราย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยที่ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลมีจำนวนน้อยลง และแพทย์ก็มีภาระน้อยลงด้วย
อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันตัวนี้จะถูกนำมาทดลองใช้กับโรงพยาบาลราชวิถี (กรมการแพทย์) เป็นแห่งแรก ก่อนจะมีการขยายความร่วมมือไปยังสถานพยาบาลแห่งอื่นต่อไป