‘พลาสติก’ ฮีโร่ที่ช่วยให้การผลิตเครื่องมือทางการแพทย์มีคุณภาพ
วันที่ 28 สิงหาคม 2563
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พลาสติกวัสดุอยู่รอบตัวเราจริงๆ เพราะเราเห็นพลาสติกกันทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น ถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุของ หรือ ขวดน้ำพลาสติกที่หาได้ในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
ความนิยมในพลาสติกมีที่มาจากหลายปัจจัย เช่น ราคาที่ไม่แพง ความทนทานสูง หรือ น้ำหนักเบา ทำให้มันได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ยัน อุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่ง วันนี้เราอยากอธิบายให้ทุกคนฟังว่า พลาสติกมีบทบาทสำคัญต่อวงการการแพทย์อย่างไร
พลาสติกเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์หลายประเภท เครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ (เช่น อุปกรณ์ผ่าตัด) ส่วนใหญ่มักทำมาจากพลาสติกเพราะมันเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาสามารถช่วยลดความเมื่อยที่เกิดจากการต้องถืออุปกรณ์เป็นเวลานานได้ มีความทนทานต่อสารเคมีและความร้อนที่เอื้อให้การฆ่าเชื้ออุปกรณ์สามารถทำได้หลายครั้งโดยไม่เกิดการกัดกร่อนเหมือนอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะ
อีกทั้ง พลาสติกยังเป็น biocompatible materials หรือ วัสดุที่เข้ากับเนื้อเยื่อและเลือดในร่างกายได้ดี ทำให้การติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทสอดใส่ในร่างกายผู้ป่วยทำได้อย่างปลอดภัย เช่น โครงสร้างลิ้นหัวใจเทียม นอกจกานี้ พลาสติกเองยังมีจุดเด่นในเรื่องของความยืดหยุ่น สามารถขึ้นเป็นรูปต่างๆ ได้ง่าย และการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนก็ง่ายขึ้นเช่นกัน
สำหรับประเภทของพลาสติกที่นำมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยทั่วไปจะมีทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่
- Commodity Plastics เป็นพลาสติกสำหรับการใช้งานทั่วไป เช่น Polyvinyl Chloride (PVC), Polypropylene (PP) และ Polyethylene (PE) มักใช้ในการทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ถุงมือผ่าตัด ถุงบรรจุเลือด ท่อลำเลียงเลือด เข็มฉีดยา ลิ้นหัวใจเทียม ด้ามจับไม้เท้า เป็นต้น
- Engineering Plastics เป็นโพลิเมอร์สังเคราะห์หรือกึ่งสังเคราะห์ที่มีการเติมสารอื่นๆ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของพลาสติก พลาสติกที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็เช่น Polycarbonate (PC) และ Acrylonitrile Butadiene Styrene Copolymer (ABS) ที่มักถูกนำมาใช้ในการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องการความใสเหมือนแก้ว ถาดเครื่องมือทางการแพทย์ หรือ ด้ามจับอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น
- Thermoplastic Elastomers เป็นโพลิเมอร์ที่มีความยืดหยุ่นเหมือนยาง ยกตัวอย่างเช่น Thermoplastic Polyurethane (TPU) Thermoplastic Vulcanizate (TPV) และ Styrene-Butadiene Copolymer (SBC) พลาสติกเหล่านี้มักนำมาใช้ในการผลิต ท่อแบบผนังบาง ฟิล์มเคลือบ ที่สวมปลายเข็มฉีดยา หลอดจ่ายสารละลาย ถุงบรรจุเลือด เป็นต้น
แต่นอกเหนือจาก 3 กลุ่มนี้ ยังมีการนำพลาสติกอื่นๆ มาใช้ในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ด้วยเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น พลาสติกผสมประเภท PC/ABS และ PC/Polyester หรือ พลาสติกที่มีการเสริมแรงด้วยใยคาร์บอนสำหรับการใช้งานทางการแพทย์ เป็นต้น
เมื่อพลาสติกมีข้อดีมากมาย และอยู่ในเครื่องมือทางการแพทย์หลายอย่าง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นักพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์จะต้องให้ความสำคัญกับคุณพลาสติก โดยเฉพาเรื่องของการทดสอบพลาสติก ซึ่งตอนนี้ในประเทศของเราเองก็มีหน่วยงานที่ให้บริการด้านนี้อยู่ นั่นคือ ‘ห้องปฏิบัติการพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก’ ของกองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์
หน่วยงานนี้จะรับทดสอบพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกทุกชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้พลาสติก/โพลิเมอร์ ด้วย เช่น ขวดยาพลาสติก สำลี เป็นต้น และ การทดสอบชุด PPE ซึ่งเป็นบริการใหม่เพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วงที่มีวิกฤต COVID-19 บอกเลยว่าบริการนี้ไม่ธรรมดา เพราะ เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบการซึมของเลือดเป็นเครื่องมือที่ทางกรมพัฒนาขึ้นมาเองตามมาตรฐาน ASTM F 1670 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวการทดสอบได้ที่ https://workpointtoday.com/covid-19-ppe)
สำหรับใครที่สนใจบริการของ ‘ห้องปฏิบัติการพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก’ สามารถติดต่อได้ตามที่อยู่นี้ ห้องปฏิบัติการพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ 75/7 ถนนพระราม 6 ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400